บทที่7 การพัฒนาโปรแกรม
ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม
1 ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม
หลังจากที่ได้ออกแบบวิธีในการแก้ปัญหาซึ่งอยู่ในรูปแบบของรหัสลำลองหรือผังงานแล้ว
ขั้นตอนต่อไป คือ การพัฒนาโปรแกรมตามผังงานดังกล่าว ซึ่งถ้านักเรียนเขียนโปรแกรมมีความรู้ความชำนาญในการเขียนโปรแกรมภาษาหนึ่งภาษาใดอยู่แล้ว
จะสามารถทำได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตามนักเขียนโปรแกรมก็ยังต้องทำการตรวจสอบว่าโปรแกรมที่ได้พัฒนาขึ้น
ทำงานได้ถูกต้อง และให้ผลลัพธ์ที่ไม่ผิดพลาดสำหรับทุกกรณี จึงจะสามารถนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้งานได้
นอกจากนี้นักเขียนโปรแกรมยังควรที่จะจัดทำเอกสาร ประกอบการพัฒนาโปรแกรม
ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้ผู้ที่จะมาพัฒนาโปรแกรมต่อไปในอนาคต
ทำความเข้าใจกับโปรแกรมที่จัดทำขึ้นได้สะดวกรวดเร็ว
รวมถึงให้ผู้ใช้โปรแกรมเข้าใจวิธีการใช้งานโปรแกรมอย่างรวดเร็ว
1.1 การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม
ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับระบบงานขนาดใหญ่ที่มีการแบ่งงานวิเคราะห์ระบบและงานเขียนโปรแกรมออกจากกันนั้น
โดยทั่วไปการมอบหมายงานให้นักเขียนโปรแกรม
จะเป็นการกำหนดความต้องการของโปรแกรมในภาพรวม แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดขั้นเป็นรหัสลำลองหรือผังงานที่ละเอียด
นักเขียนโปรแกรมจึงต้องศึกษาถึงความต้องการของงานที่ได้รับมอบหมาย ข้อมูลนำเข้า
ข้อมูลส่งออก
และกระบวนการในการแก้ปัญหาอย่างละเอียดเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหาซึ่งอยู่ในรูปแบบของผังงานอย่างละเอียด
ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนี้ คือ การออกแบบผังงานดังได้กล่าวแล้วในบทที่ 6
1.2 การเขียนโปรแกรมจากรหัสลำลองหรือผังงาน
โดยทั่วไปการเขียนโปรแกรมจากรหัสลำลองหรือผังงานที่ได้ออกแบบไว้อย่างดีแล้ว
นักเขียนโปรแกรมสามารถทำได้โดยง่ายและรวดเร็ว
ซึ่งจะเป็นการแปลงจากแต่ละสัญลักษณ์ของผังงาน
ไปเป็นคำสั่งที่สอดคล้องกันในภาษาโปรแกรมที่เลือกใช้
โดยโปรแกรมที่ดีจะต้องมีการตรวจสอบและแจ้งข้อผิดพลาดให้แก่ผู้ใช้งานโปรแกรมทราบ
โดยที่การทำงานของโปรแกรมไม่สะดุดลง ตัวอย่างเช่น
ในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อหาค่าของผลหารถ้าหากว่ามีการรับข้อมูลนำเข้าเป็นตัวหาร แต่ผู้ใช้ป้อนข้อมูลตัวหารเป็นศูนย์
โปรแกรมจะเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานเป็นชิ้น ดังนั้นโปรแกรมควรต้องทำการตรวจสอบว่า
ถ้าตัวหารเป็นศูนย์ต้องแจ้งข้อความผิดพลาดให้ผู้ใช้ทราบ
รูปที่ 1 แสดงผลที่ได้จากโปรแกรมเมื่อตัวหารไม่เป็นศูนย์
และเมื่อตัวหารเป็นศูนย์จะเห็นว่าเมื่อตัวหารไม่เป็นศูนย์
โปรแกรมสามารถทำงานให้คำตอบได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าตัวหารเป็นศูนย์
และในโปรแกรมไม่ได้มีการตรวจสอบไว้ โปรแกรมจะทำงานผิดพลาด
และหยุดการทำงานลงพร้อมกับแสดงข้อความบอกข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นออกมา
ดังที่แสดงในรูปเป็นตัวอักษรเอียง
1.3 การเตรียมข้อมูลสำหรับทดสอบโปรแกรม
ในระหว่างขั้นตอนการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาให้อยู่ในรูปของรหัสลำลองหรือผังงานนั้นนักเขียนโปรแกรมควรพิจารณาถึงข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการทดสอบโปรแกรมที่จะเขียนขึ้นด้วยความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ใช้ในการทดสอบโปรแกรมมีความสำคัญมาก
เนื่องจากจะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความถูกต้องของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น
ว่ามีความถูกต้องครอบคลุมข้อมูลนำเข้าทุกรูปแบบ
โดยตรวจสอบว่ามีข้อมูลนำเข้ารูปแบบใดที่โปรแกรมไม่สามารถรองรับได้ เช่น ข้อมูลไม่อยู่ในช่วงที่ถูกต้อง
และข้อมูลที่รับเข้าเป็นตัวเลขแต่ผู้ใช้ป้อนค่าเป็นตัวอักษร
1.4 การทดสอบโปรแกรม
หลังจากได้เขียนโปรแกรมและเตรียมข้อมูลสำหรับทดสอบอย่างครบถ้วนแล้ว
ขั้นตอนทดสอบโปรแกรมก็จะสามารถดำเนินการได้
ถ้าหากว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมีความซับซ้อนไม่มากนัก
นักเขียนโปรแกรมสามารถทำการทดสอบโดยรับโปรแกรม ป้อนข้อมูลทีละชุด
และตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ได้
ซึ่งเป็นวิธีที่ง่านและเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกหัดการเขียนโปรแกรม
เนื่องจากสามารถทดสอบโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว
ในบางครั้งนักเขียนโปรแกรมอาจต้องใช้โปรแกรมเฉพาะเพื่อทำการรันโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น
และทดสอบกับชุดข้อมูลทดสอบอย่างอัตโนมัติ
1.5 การจัดทำเอกสารประกอบโปรแกรม
ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่ได้ทดสอบจนแน่ใจว่าโปรแกรมทำงานได้ถูกต้องกับชุดข้อมูลทดสอบทั้งหมดแล้ว
คือการจัดทำเอกสารประกอบ ในขั้นตอนนี้นักเขียนโปรแกรมจะต้องรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดในระหว่างการพัฒนาโปรแกรม
เช่น รายละเอียดของปัญหาที่ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ ข้อมูลออกที่ต้องการ
ข้อมูลเข้าที่เป็นไปได้ทั้งหมด
วิธีการประมวลผลเพื่อแก้ปัญหารหัสลำลองหรือผังงานที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว
และสอดคล้องกับโปรแกรมที่ได้พัฒนาขึ้น ภาษาที่ใช้คุณลักษณะของเครื่องคอมพิวเตอร์
และรุ่นของระบบปฏิบัติการที่โปรแกรมทำงานด้วย ชุดข้อมูลทดสอบ และผลการทดสอบโปรแกรม
โดยนำรายละเอียดทั้งหมดนี้ มาจัดทำเป็นรายงานหรือเอกสาร
เพื่อจัดเก็บควบคู่กับตัวโปรแกรมต้นฉบับที่พัฒนาขึ้น สำหรับใช้อ้างอิงในอนาคตเมื่อต้องการแก้ไข
หรือพัฒนาโปรแกรมต่อไป นอกจากนี้ควรมีการจัดทำคู่มือสำหรับผู้ใช้
ซึ่งอธิบายขั้นตอนในการใช้งานโปรแกรม
เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจวิธีใช้งานอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ในบทนี้จะได้อธิบายถึงรายละเอียดในขั้นตอนการเขียนโปรแกรม
จากรหัสลำลองหรือผังงาน และภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆต่อไป
แสดงความคิดเห็น
2 ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
การแก้ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์นั้น
หลังจากที่ได้วิเคราะห์ปัญหาจนได้ขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหา
ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบรหัสลำลอง หรือผังงาน ขั้นตอนต่อไปคือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาตามขั้นตอนที่ได้วางแผนไว้
แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์จะรับรู้คำสั่งที่เป็นภาษาเครื่องเท่านั้นและมนุษย์ไม่สามารถเขียนโปรแกรมภาษาเครื่องได้โดยตรง
เนื่องจากไม่สะดวก ยากต่อการทำความเข้า จึงได้มีการสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการเขียนโปรแกรม
ผู้เขียนโปรแกรมไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การทำงาน
และโครงสร้างภายในของเครื่องคอมพิวเตอร์
ก็สามารถเขียนโปรแกรมได้โดยต้องผ่านการแปลให้เป็นภาษาเครื่องก่อนที่จะใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์ได้
2.1 ภาษาเชิงกระบวนความ(procedural
languages)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาเชิงกระบวนความมีลักษณะการทำงานตามลำดับของคำสั่ง
จากคำสั่งแรกจนถึงคำสั่งสุดท้าย และบางคำสั่งอาจจะถูกทำซ้ำ
หรือบางคำสั่งอาจจะไม่ถูกกระทำเลยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในโปรแกรม
ภาษาในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับการเริ่มต้นทำความเข้าใจกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
เนื่องจากช่วยให้ผู้เรียนรู้จักการคิดอย่างเป็นระบบ
อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเขียนโปรแกรมภาษาอื่น
นอกจากนี้ในภาษาโปรแกรมประเภทอื่นก็จะยังมีรูปแบบการทำงานเชิงกระบวนความแฝงอยู่ภายในด้วยเสมอ
การใช้งานภาษาในกลุ่มนี้ เช่น งานคำนวณทางวิทยาศาสตร์อาจเลือกใช้ภาษาฟอร์แทรน(FORTRAN)
งานประมวลผลข้อมูลทางธุรกิจการเงินหรือธนาคารอาจเลือกใช้ภาษาโคบอล (COBOL)หรือภาษาอาร์พีจี (RPG) การเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์มักเลือกใช้ภาษาซีเนื่องจากภาษาเครื่องที่ได้จะทำงานได้รวดเร็ว
หรือการเรียนการสอนการโปรแกรมเชิงกระบวนความอาจเลือกใช้ภาษาปาสคาล (Pascal)
หรือภาษาซี เป็นต้น
2.2 ภาษาเชิงวัตถุ(Object-Oriented Languages)
ภาษาเชิงวัตถุจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้เขียนโปรแกรมในการพัฒนาโปรแกรมที่ใหญ่และซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังสามารถใช้เขียนโปรแกรมในลักษณะเดียวกับภาษาเชิงกระบวนความได้เช่นกัน
ภาษาในกลุมนี้ เช่น ภาษาจาวา (Java) ภาษาซีชาร์ป (C#)
และภาษาซีพลัสพลัส (C++)รูปที่ 5
แสดงตัวอย่างโปรแกรมภาษาซีพลัสพลัสที่ให้ผู้เล่นทายตัวเลขที่โปรแกรมสุ่มขึ้นมาหนึ่งตัว
2.3ภาษาอื่นๆ
1.โฟร์ทจีแอล (fourth-generation
languages: 4GLs) เป็นกลุ่มของภาษาที่แตกต่างจากภาษาเชิงกระบวนความ
ที่เน้นให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลในฐานข้อมูลได้โดยง่าย
ภาษาจะมีความคล้ายคลึงกับภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ ตัวอย่างของภาษา 4GL เช่น ภาษาเอสคิวแอล (SQL)
2.เอชทีเอ็มแอล (Hypertext
Markup Language: HTML ) เป็นภาษาที่ใช้จัดรูปแบบการแสดงผลของข้อความและรูปภาพ
รวมถึงสื่อประสมบนหน้าเว็บ
ดังนั้นเอชทีเอ็มแอลจึงไม่ได้ถูกจัดเป็นภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมอย่างแท้จริง
แต่เป็นการกำหนดวิธีการในการแสดงผล เอชทีเอ็มแอลจะใช้แท็ก (tags) เป็นตัวกำหนดว่าส่วนใดในเอกสารจะให้แสดงผลอย่างไร รูปที่ 7 (ก)
แสดงตัวอย่างของภาษาเอชทีเอ็มแอลที่ใช้ในการสร้างเว็บเพจในรูปที่ 7 (ข)
ในบทนี้จะได้แนะนำให้รู้จักกับภาษาซี
ซึ่งเป็นภาษาที่เขียนเป็นแบบโครงสร้าง และเป็นภาษาที่ใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมเชิงกระบวนความได้เป็นอย่างดี
7.3.1 โครงสร้างของภาษาซี
โครงสร้างพื้นฐานของโปรแกรมภาษาซีจะต้องประกอบด้วยฟังก์ชันอย่างน้อย
1 ฟังก์ชัน คือ ฟังก์ชัน main( ) ซึ่งมีรูปแบบดังรูปที่ 8
ฟังก์ชัน main( ) ประกอบด้วย
3 ส่วนหลัก คือ
1.ส่วนหัวของฟังก์ชัน ในบรรทัดที่ 1
ประกอบด้วย ชนิดข้อมูล ชื่อฟังก์ชัน main ตามด้วยเครื่องหมาย
( และเครื่องหมาย ) ตามลำดับ สำหรับชนิดข้อมูล
เป็นการระบุว่าฟังก์ชันนี้จะส่งค่ากลับไปให้กับฟังก์ชันผู้เรียกเป็นข้อมูลชนิดใด
โดยทั่วไปแล้วสำหรับฟังก์ชัน main ( ) จะส่งค่ากลับเป็นชนิดข้อมูลจำนวนเต็มหรือ
int
2.ส่วนการประกาศตัวแปร ในบรรทัดที่ 2
ใช้สำหรับประกาศตัวแปรชนิดต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลระหว่างการประมวลผล
3.ส่วนคำสั่ง ในบรรทัดที่ 3
ประกอบด้วยคำสั่งต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงการเรียกใช้ฟังก์ชันอื่นได้ด้วย
ส่วนประกอบตัวแปรและส่วนคำสั่งจะต้องเขียนอยู่ระหว่างเครื่องหมาย
{
และเครื่องหมา } เสมอทั้งสองส่วนนี้ใช้สำหรับนิยามการทำงานของฟังก์ชัน
main ( ) และคำสั่งทุกคำสั่งในภาษาซีจะต้องปิดท้ายเครื่องหมาย
; (semicolon) เสมอ
3.2 องค์ประกอบของภาษาซี
ในที่นี้จะได้อธิบายองค์ประกอบพื้นฐานของภาษาซีจากตัวอย่างของโปรแกรมในรูปที่ 10 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนามาจากผังงานในตัวอย่างที่ 9
โดยเพิ่มการนับจำนวนครั้งของการทายทั้งหมดด้วย (รูปที่ 9)
แสดงผังงานที่สอดคล้องกับโปรแกรมในรูปที่ 10)
รูปที่ 10 ตัวอย่างโปรแกรมภาษาซี
การประกาศรวมแฟ้มส่วนหัวดีงแสดงในบรรทัดที่ 1
และ 2 เป็นการรวมเอาฟังก์ชันมาตรฐานของภาษาซีเข้ามาร่วมใช้งานกับโปรแกรมที่เขียนขึ้น
ทำให้นักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้ฟังก์ชันมาตรฐานที่ภาษาซีเตรียมไว้ให้ได้ เช่นฟังก์ชัน printf ( ) และ scanf ( ) เป็นต้น
ในบรรทัดที่ 6 ถึง 8 เป็นการประกาศตัวแปร
ซึ่งเป็นข้อกำหนดของภาษาซีที่ต้องมีการประกาศตัวแปรไว้ที่ตอนต้นของฟังก์ชัน
ก่อนที่จะสามารถใช้งานตัวแปรเหล่านั้นได้ ในที่นี้มีการประกาศตัวแปร target,
number และ no_of_guesses เป็นชนิดจำนวนเต็ม (int)
สังเกตว่ารูปแบบของการประกาศตัวแปร คือ data_type
identification_name;
ซึ่ง data_type เป็นชนิดของข้อมูล
และ identification_name เป็นชื่อตัวแปรที่กำหนดขึ้นให้มีชนิดตามที่ระบุ
นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดค่าเริ่มต้นให้กับตัวแปรที่เพิ่งจะประกาศขึ้นได้เลย
ดังเช่นที่กำหนดค่า 1 .ให้กับตัวแปร no_of_guesses ในบรรทัดที่
8
ในบรรทัดที่ 10,12 และ 20
เป็นการเรียกใช้ฟังก์ชัน scanf ( ) ในการรับข้อมูลเข้า
โดยต้องมีการระบุ พารามิเตอร์ คือ
ตัวแรกเป็นสายอักขระของการกำหนดรูปแบบของข้อมูลเข้าที่ต้องการรับ ในที่นี้คือ “%d”
หมายถึงว่าต้องการรับข้อมูลเข้าที่อยู่ในรูปแบบจำนวนเต็ม และตัวที่สองเป็นตำแหน่งในหน่วยความจำของตัวแปรที่ต้องการใช้เก็บค่าที่รับเข้ามา
สังเกตว่าภาษาซีใช้เครื่องหมาย & นำหน้าชื่อตัวแปร
เป็นการอ้างถึงตำแหน่งในหน่วยความจำของตัวแปรนั้น
พารามิเตอร์
พารามิเตอร์ (parameter) หมายถึง ชื่อที่ถูกอ้างถึงในส่วนหัวของฟังก์ชัน หรือโปรแกรมย่อย
ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยค่าที่ฟังก์ชันผู้เรียกส่งผ่านมาให้ในขณะที่ทีการเรียกใช้ฟังก์ชันหรือโปรแกรมย่อยนั้นๆ
ในบรรทัดที่ 11,16,18 และ 19
เป็นการเรียกฟังก์ชัน printf ( ) เพื่อพิมพ์ข้อความออกทางจอภาพซึ่งเราสามารถกำหนดข้อความอยู่ภายในเครื่องหมายอัญประกาศให้เป็นพารามิเตอร์ของฟังก์ชัน
printf ( ) ได้เลย
สำหรับในบรรทัดที่ 23
จะมีการพิมพ์ค่าของตัวแปรชนิดจำนวนเต็ม no_of_quesses ด้วย
โดยจะต้องระบุรูปแบบข้อมูลของตัวแปรที่ต้องการให้พิมพ์ภายในข้อความที่เป็นพารามิเตอร์ตัวแรกด้วย
ในที่นี้ตัวแปร no_of_quesses เป็นชนิด int ซึ่งจะใช้รูปแบบกำหนดการพิมพ์คือ “%d” ในลักษณะเดียวกันกับฟังก์ชัน
scanf ( ) นั่นเอง
คำสั่ง while เป็นคำสั่งเพื่อควบคุมว่าชุดคำสั่งภายใต้คำสั่ง
while (คือ ตั้งแต่บรรทัดที่ 14 ถึง 22) จะถูกวนทำซ้ำอีกหรือไม่
โดยเมื่อโปรแกรมทำงานมาถึงบรรทัดที่ 13 จะตรวจสอบก่อนว่าเงื่อนไขเป็นจริงหรือไม่
ในที่นี้คือตรวจสอบว่าค่าของตัวแปร number ไม่เท่ากันกับค่าของตัวแปร
target หรือไม่ ถ้าเป็นจริง
ก็จะไปทำงานตามคำสั่งภายในบรรทัดดังกล่าวหนึ่งรอบ ก่อนที่จะย้อนกลับไปตรวจสอบเงื่อนไขอีกครั้ง
ถ้าเงื่อนไขเป็นเท็จ ก็จะไปทำงานในบรรทัดที่ 23 ต่อไป
ในบรรทัดที่ 21
เป็นการกำหนดค่าใหม่ให้กับตัวแปร no_of_quesses โดยใช้เครื่องหมายกำหนดค่า ( = )
ซึ่งเป็นการกำหนดให้ตัวแปรที่อยู่ทางซ้ายของเครื่องหมายกำหนดค่า
มีค่าเท่ากับค่าของนิพจน์ทางขวาของเครื่องหมายกำหนดค่า
ซึ่งในที่นี้เป็นการเพิ่มค่าของตัวแปร no_of_quesses ขึ้นอีก
1 นั่นเอง
ภาษาซีที่ใช้นิพจน์ทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณและเปรียบเทียบ
นิพจน์ประกอบด้วยตัวถูกดำเนินการ (operand) และตัวดำเนินการ
(operator) ที่สามารถถูกลดรูปหรือถูกประเมินให้เป็นค่าทางคณิตศาสตร์เพียงค่าเดียวได้
เช่น 2*5 เป็นนิพจน์ เนื่องจากสามารถหาค่าได้เป็น 10
ตัวดำเนินการในภาษาซีมีหลายประเภท ดังตารางที่ 7.1 แสดงความหมายและตัวอย่างการใช้งานตัวดำเนินการในภาษาซี
คำสั่ง if-else ในบรรทัดที่
15 ถึง 18 เป็นการเลือกว่าจะทำงานตามคำสั่งภายใต้ if หรือภายใต้
else แล้วแต่เงื่อนไขที่อยู่หลัง if ในบรรทัดที่
15 โดยถ้าเงื่อนไขเป็นจริง จะทำงานภายใต้ if นั่นคือคำสั่งในบรรทัดที่
16 เท่านั้น แล้วจะข้ามไปทำงานในบรรทัดที่ 19 เลย แต่ถ้าเงื่อนไขในบรรทัดที่ 15
เป็นเท็จ ก็จะข้ามคำสั่งภายใต้ if ไปทำงานที่คำสั่งภายใต้ else
ในบรรทัดที่ 18 เท่านั้น ก่อนที่จะทำงานในบรรทัดที่ 19 ต่อไป
- คำสั่ง return
ในบรรทัดที่ 25 คำสั่ง return
เป็นการจบการทำงานของฟังก์ชัน แล้วส่งค่าที่ระบุ (คือค่า 0 )
กลับไปให้กับฟังก์ชันที่เรียกมา
สำหรับโปรแกรมภาษาซีที่ถูกเรียกให้ทำงานจากระบบปฏิบัติการนั้น เนื่องจากระบบปฏิบัติการเป็นผู้เรียกให้ฟังก์ชัน
main ( ) ในโปรแกรมทำงาน
ดังนั้นเมื่อโปรแกรมทำงานเสร็จสิ้นลง ฟังก์ชัน main ( ) จึงส่งค่า
0 ไปให้กับระบบปฏิบัติการ
รูปที่ 11 ผลจากการรันโปรแกรมภาษาซีในรูปที่ 10
4 การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์
โครงงานคอมพิวเตอร์เป็นการนำเอาความรู้ในด้านการเขียนโปรแกรม
มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
รวมถึงอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง
เพื่อผลิตผลงานสำหรับแก้ปัญหา หรือนำผลงานมาประยุกต์ในงานจริง
นักเรียนจะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์
เพื่อวางแผนการพัฒนา โครงงาน โดยอาจขอคำปรึกษาจากอาจารย์
ผู้สอน หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่น
เป้าหมายสูงสุดของการจัดทำโครงงานคือ การที่โครงงานได้ถูกนำไปใช้งานจริง
และก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้นำไปใช้
ในการเลือกหัวข้อโครงงานนั้นผู้พัฒนาอาจเริ่มจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์
ร่วมกับประสบการณ์
ในการคิดค้นถึงสิ่งที่เป็นปัญหา
และความเป็นไปได้ในการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยงาน โดยทั่วไปแล้ว
โครงงานคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 5
ประเภท คือ
1. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา
เป็นการสร้างบทเรียนที่อาจมีแบบฝึกหัดหรือคำถามเพื่อทดสอบด้วย
2.โครงงานพัฒนาเครื่องมือ
เป็นการพัฒนาโปรแกรมช่วยงานในด้านต่างๆ
3. โครงงานจำลองทฤษฎี
เป็นการพัฒนาโปรแกรมเพื่อจำลองการทดลองในด้านต่างๆที่ไม่สามารถทดลองด้วยสถานการณ์จริงได้
4.โครงงานประยุกต์
เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ร่วมกับอุปกรณ์อื่นในการประดิษฐ์สิ่งของหรือปรับปรุง
เครื่องมือที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
5.โครงงานพัฒนาเกม
เป็นการสร้างเกมเพื่อการศึกษาหรือความบันเทิง